คำ

คำ
คำ เป็นหน่วยของภาษาที่สื่อถึงความหมายซึ่งประกอบด้วยพยางค์หนึ่งพยางค์หรือมากกว่า ปกติแล้วในแต่ละคำจะมีรากศัพท์ของคำแสดงถึงความหมายและที่มาของคำนั้น โดยการนำคำหลายคำมาประกอบกันจะทำให้เกิดวลีหรือประโยคซึ่งใช้สื่อความหมายให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นไป
ประเภทของคำ
  • คำนาม (noun)คำนาม เป็นคำที่ทำหน้าที่เป็นชื่อของสิ่งของใด ๆ หรือชุดของสิ่งของใด ๆ เช่น สิ่งมีชีวิต วัตถุ สถานที่ การกระทำ คุณสมบัติ สถานะ หรือแนวคิด ในทางภาษาศาสตร์ คำนามเป็นหนึ่งในวจีวิภาคแบบเปิดที่สมาชิกสามารถเป็นคำหลักในประธานของอนุประโยค กรรมของกริยา หรือกรรมของบุพบท
    หมวดหมู่คำศัพท์ (วจีวิภาค) ถูกนิยามในทางที่ว่าสมาชิกจะอยู่รวมกับนิพจน์ชนิดอื่น ๆ กฎทางวากยสัมพันธ์ของคำนามจะแตกต่างกันระหว่างภาษาต่าง ๆ ในภาษาอังกฤษ คำนามคือคำที่สามารถมาพร้อมกับคำนำหน้านาม (article) และคำคุณศัพท์กำหนดลักษณะ (attributive adjective) และสามารถทำหน้าที่เป็นคำหลัก (head) ของนามวลี
  • คำสรรพนาม (pronoun) ในทางภาษาศาสตร์และไวยากรณ์ คำสรรพนามเป็นคำซึ่งใช้แทนคำนามหรือนามวลี
    คำนามถือว่าเป็นคำชนิดหนึ่ง แต่นักทฤษฎีสมัยใหม่บางส่วนจะไม่จำกัดอยู่ในชนิดเดียว เพราะคำสรรพนามมีหลายหน้าที่ เช่น บุรุษสรรพนาม (personal pronoun) ประพันธสรรพนาม (relative pronoun) ปฤจฉาสรรพนาม (interrogative pronoun) นิยมสรรพนาม (demonstrative pronoun) สามีสรรพนาม (possessive pronoun) และอนิยมสรรพนาม (indefinite pronoun)
    การใช้คำสรรพนามมักเกี่ยวข้องกับการเน้นซ้ำคำ ซึ่งความหมายของคำสรรพนามขึ้นอยู่กับส่วนอ้างอิงอื่น ซึ่งใช้โดยเฉพาะกับสรรพนาม (บุรุษที่ 3)
  • คำกริยา (verb) คือ คำที่ใช้บ่งบอกถึงการกระทำ การปรากฏ หรือสถานะของสิ่งที่กล่าวถึง คำกริยาอาจมีรูปแบบที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับภาษา อันมีองค์ประกอบจากกาล การณ์ลักษณะ มาลา วาจก หรือรวมทั้งบุรุษ เพศ และพจน์ของสิ่งที่กล่าวถึงด้วย คำกริยาอาจแบ่งได้หลายประเภทตามหน้าที่การใช้งานและไวยากรณ์ของภาษา สำหรับภาษาไทยแบ่งคำกริยาออกเป็น
    • อกรรมกริยา (intransitive verb) คือคำกริยาที่ไม่จำเป็นต้องมีกรรมมารองรับ เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน วิ่ง หกล้ม ร้องไห้
    • สกรรมกริยา (transitive verb) คือคำกริยาที่บอกใจความยังไม่สมบูรณ์ ต้องมีกรรมมารองรับ เช่น ทำ กิน ซื้อ ขาย ยืม ขอ เช่า คำกริยาบางคำต้องมีทั้งกรรมตรงและกรรมรอง เช่น ให้ แจก ถวาย และคำกริยาหลายคำก็สามารถเป็นได้ทั้งอกรรมกริยาและสกรรมกริยา
    • วิกตรรถกริยา คือคำกริยาที่บอกใจความยังไม่สมบูรณ์ ต้องมีคำอื่นมารองรับแต่ส่วนนั้นไม่ถือว่าเป็นกรรม เช่น เป็น คือ เหมือน คล้าย มี เท่า คำที่ประกอบวิกตรรถกริยาเรียกว่า บทวิกัติการก (ภาษาอังกฤษถือว่าคำกริยาประเภทนี้เป็นชนิดเดียวกับคำกริยานุเคราะห์)
    • กริยานุเคราะห์ (auxiliary verb) คือคำกริยาที่ช่วยบอกสถานะหรือกาลของกริยาอื่น เช่น คง อาจ จะ กำลัง เคย ต้อง น่า แล้ว
    • กริยาสภาวมาลา (clausal verb) คือคำกริยาที่ทำหน้าที่เป็นคำนาม ในส่วนของประธาน กรรม หรือส่วนขยายของประโยค
  • คำวิเศษณ์ หรือ คำคุณศัพท์ (adjective) คือคำที่ทำหน้าที่ขยายคำนาม คำสรรพนาม คำกริยา หรือคำวิเศษณ์ด้วยกัน เพื่อให้ได้ความชัดเจนยิ่งขึ้น   ในภาษาไทย คำวิเศษณ์สามารถใช้ขยายได้ทั้งนาม สรรพนาม กริยา และวิเศษณ์ ในขณะที่ในภาษาอังกฤษจะแยกคำวิเศษณ์ออกเป็นสองประเภทคือ คำคุณศัพท์ (adjective) ใช้ขยายได้เฉพาะคำนามและสรรพนามเท่านั้น และคำกริยาวิเศษณ์ (adverb) ใช้ขยายกริยา คุณศัพท์ และกริยาวิเศษณ์ด้วยกัน คำวิเศษณ์ในภาษาไทยมี 10 ชนิดดังนี้ เช่น
    1. ลักษณวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกลักษณะต่าง ๆ เช่น
    • บอกชนิดสี เช่น เหลือง แดง
    • บอกขนาด เช่น ใหญ่ เล็ก
    • บอกสัณฐาน เช่น กลม แบน
    • บอกกลิ่น เช่น หอม เหม็น
    • บอกรส เช่น เปรี้ยว หวาน
    • บอกความรู้สึก เช่น ร้อน เย็น เป็นต้น เช่น น้ำร้อนอยู่ในกระติกสีขาว หรือ จานใบใหญ่ราคาแพงกว่าจานใบเล็ก
    • 2. กาลวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์บอกเวลา เช่น เช้า สาย บ่าย เย็น อดีต อนาคต เป็นต้น เช่น พรุ่งนี้เป็นวันเกิดของคุณแม่ หรือ เขามาโรงเรียนสาย
    3. สถานวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์บอกสถานที่ เช่น ใกล้ ไกล บน ล่าง เหนือ ใต้ ซ้าย ขวา เป็นต้น เช่น ฉันนั่งเรียนอยู่แถวหน้า
    4. นิยมวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกความชี้เฉพาะ เช่น นี้ นั่น โน่น ทั้งนี้ ทั้งนั้น แน่นอน เป็นต้น เช่น บ้านนั้นไม่มีใครอยู่ หรือ เขาเป็นคนขยันแน่ ๆ
    5. อนิยมวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกความไม่ชี้เฉพาะ เช่น ใด อื่น ไหน อะไร ใคร ฉันใด เป็นต้น เช่น เธอจะมาเวลาใดก็ได้ หรือ คุณจะนั่งเก้าอื้ตัวไหนก็ได้
    6. ปฤจฉาวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์แสดงคำถาม หรือแสดงความสงสัย เช่น ใด ไร ไหน อะไร สิ่งใด ทำไม เป็นต้น เช่น เสื้อตัวนี้ราคาเท่าไร หรือ เขาจะมาเมื่อไร
    7. ประพันธวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ทำหน้าที่เชื่อมคำหรือประโยคให้มีความเกี่ยวข้องกัน เช่นคำว่า ที่ ซึ่ง อัน
    8. ประมาณวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์บอกจำนวน หรือปริมาณ เช่น หนึ่ง สอง สาม มาก น้อย บ่อย หลาย บรรดา ต่าง บ้าง เป็นต้น เช่น เขามีเงินห้าบาท หรือ เขามาหาฉันบ่อย ๆ
    9. ประติเษธวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่แสดงความปฏิเสธ หรือไม่ยอมรับ เช่น ไม่ ไม่ใช่ มิ มิใช่ ไม่ได้ หามิได้ เป็นต้น เช่น เขามิได้มาคนเดียว หรือ ของนี้ไม่ใช่ของฉัน ฉันจึงรับไว้ไม่ได้
    10. ประติชญาวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ใช้แสดงการขานรับหรือโต้ตอบ เช่น ครับ ขอรับ ค่ะ เป็นต้น เช่น คุณครับมีคนมาหาขอรับ หรือ คุณครูขา สวัสดีค่ะ
  • คำบุพบท (preposition)  คือคำที่ใช้นำหน้าคำนาม คำสรรพนาม คำกริยา หรือคำวิเศษณ์ เพื่อบอกสถานภาพของคำเหล่านั้น หรือเพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างคำหรือประโยค
  • คำสันธาน (conjunction) คือชนิดของคำที่เชื่อมคำ ประโยค วลี หรือประโยคย่อยเข้าด้วยกัน คำสันธานที่เชื่อมประโยคเข้าด้วยกันเรียกว่า คำเชื่อมสัมพันธสาร (discourse connective) บทนิยามนี้อาจทับซ้อนกับชนิดของคำชนิดอื่น ดังนั้น สิ่งที่ประกอบเป็น "คำสันธาน" จะต้องถูกนิยามขึ้นสำหรับแต่ละภาษา โดยทั่วไป คำสันธานเป็นคำอนุภาคที่ไม่ผันรูป และมันอาจจะวางอยู่ระหว่างประโยคสองประโยคที่เชื่อมกันหรือไม่ก็ได้
  • คำอุทาน (interjection)อาจจะเป็นคำที่ใช้แสดงอารมณ์ หรือความรู้สึกของผู้พูด ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น (แม้ว่าคำอุทานส่วนมากจะมีคำนิยามที่ชัดเจน) คำอย่างเช่น เอ่อ, เอิ่ม ก็ถือว่าเป็นคำอุทานเช่นกัน คำอุทานมักจะวางอยู่หน้าประโยค
  • คำกริยาวิเศษณ์ (adverb)  เป็นคำชนิดหนึ่งมีใช้ในหลายภาษา ตัวอย่างที่เห็นชัดคือภาษาอังกฤษ คำกริยาวิเศษณ์หมายถึงคำที่ทำหน้าที่ขยายความคำกริยาหรือคำอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากคำนาม เช่นคำคุณศัพท์ (รวมทั้งจำนวน) อนุประโยค ประโยค และคำกริยาวิเศษณ์อื่น คำกริยาวิเศษณ์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำวิเศษณ์ในภาษาไทย
  • คำกริยานุเคราะห์ (auxiliary verb) เป็นคำกริยาที่ช่วยเสริมไวยากรณ์ อาจไม่มีความหมายในตัวเอง เช่น do have may
  • คำนำหน้านาม (article)คือคำที่ใส่เพิ่มไปในชื่อของบุคคลเพื่อบ่งบอกถึงสถานภาพ เช่น การศึกษา ยศตำแหน่ง หรือบรรดาศักดิ์ อาทิ นาย นาง นางสาว ศาสตราจารย์ พันเอก เจ้าชาย กษัตริย์ จักรพรรดิ ฯลฯ ในบางวัฒนธรรมอาจใช้คำแทรกระหว่างชื่อตัวกับนามสกุล เช่น Graf ในชุมชนภาษาเยอรมัน หรือ พระคาร์ดินัลในตำแหน่งบาทหลวงโรมันคาทอลิก
    แต่เดิมประเทศไทย ไม่มีการใช้คำนำหน้าชื่อเป็นกิจลักษณะ ต่อมาเมื่อมีการประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้ พระราชบัญญัติให้ใช้คำนำหน้าชื่อชนต่าง ๆ (ณ วันพุธ เดือน 10 ขึ้น 7 ค่ำ ปีระกาตรีศก) ซึ่งกำหนดคำนำหน้าชื่อ อยู่สำหรับ หญิงและชาย ซึ่งเป็นสามัญชนไว้เพียง 3 คำ ได้แก่ นาย อ้าย และ อี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น